พระเดชพระคุณ พระมงคลสิทธิการ

หลวงพ่อพูล อตฺตรักโข

 

สนใจเช่าบูชาูวัตถุมงคลของหลวงพ่อพูล Click ที่นี่ได้เลยครับ

 

หลวงพ่อพูล ชื่อนี้ประจักษ์ในฐานะพระเกจิอาจารย์อันดับหนึ่งของประเทศไทย และนับเป็นสุดยอดพระผู้ยิ่งใหญ่ มากด้วยเมตตาบารมี เป็นเนื้อนาบุญอันไพศาล

               

ชีวิตที่ผ่านมาของท่านอุทิศแล้วแด่บวรพุทธศาสนา ทุ่มเทด้วยแรงกายแรงใจแรงสติปัญญา ช่วยเหลือผู้ยากไร้มิเคยขาด ที่สำคัญท่านพ้นวังวนของกิเลสและตัณหาทั้งปวง มุ่งแผ่เมตตาธรรมโดยถ้วนหน้าแก่ทุกชีวิตที่เข้ามาพึ่งใบบุญโดยไม่เลือกชั้นวรรณะ สายตาของท่านมองทุกคนด้วยความเท่าเทียม ทุกคนจึงได้รับการปฏิบัติจากหลวงพ่ออย่างดีมาโดยตลอด

                หลวงพ่อพูล เป็นพระสงฆ์ที่เคร่งครัดพระธรรมวินัยด้วยความสมถะ ท่านจะนิ่ง พูดน้อย จนได้รับสมญา “พระจริงต้องนิ่งใบ้”

 

ภูมิหลังชาติกำเนิด

                 .....ย้อนกลับไปเมื่อวันอาทิตย์ที่ 11 พฤศจิกายน พ.ศ. 2455 ปีชวด (ร.ศ.131) ณ บ้านเลขที่ 75 หมู่ 3 ตำบลดอนยายหอม จังหวัดนครปฐม นางสำเนียง ปิ่นทอง ได้ให้กำเนิดบุตรคนที่ 6 (ในจำนวนพี่น้องชายหญิง 10 คน) เป็นเพศชาย เด็กผู้นี้เกิดมามีสุขภาพแข็งแรง ร่างกายครบ 32 ประการ นำความปลาบปลื้มมาให้ นายจู ปิ่นทอง ผู้เป็นสามีอย่างมาก

                สองสามีภรรยาได้ช่วยกันตั้งชื่อให้บุตรชายคนนี้ว่า ด.ช.พูล  ปิ่นทอง และเลี้ยงดูอบรมสั่งสอนให้เป็นคนดี อยู่ในโอวาท ในศีลในธรรม ซึ่งอุปนิสัยส่วนตัวของเด็กคนนี้คือเป็นผู้มีจิตใจเมตตาโอบอ้อมอารี จริงใจเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ต่อทั้งเพื่อนมนุษย์และสรรพสัตว์ ชอบช่วยเหลือผู้อื่นโดยไม่ต้องรอให้ร้องขอ และอุปนิสัยที่เด่นชัดที่สุด คือ เป็นคนเงียบ ๆ พูดน้อย

 

ศึกษาหาความรู้

                เมื่ออายุถึงเกณฑ์ ด.ช. พูล ได้เข้าศึกษาชั้นประถมที่โรงเรียนวัดห้วยจรเข้ อำเภอเมือง จังหวัดนครปฐม ซึ่งเป็นโรงเรียนใกล้บ้าน ด้วยความอุตสาหะขยันหมั่นเพียร เขาสามารถอ่านออกเขียนได้แตกฉานกว่าเพื่อนรุ่นเดียวกัน กระทั่งเรียนจบชั้นประถมศึกษาปีที่ 4 ในปี พ.ศ. 2471

                แต่ด้วยชาติตระกูลที่ถือกำเนิดในครอบครัวชาวสวนผลไม้ ไม่ได้มีฐานะร่ำรวยอะไรมากมาย กอปรกับมีพี่น้องร่วมบิดามารดาเดียวกันถึง 10 คน ทำให้ ด.ช.พูล ไม่ได้ศึกษาต่อเพราะต้องออกมาช่วยงานทางบ้าน แต่เพราะเป็นคนสนใจใฝ่รู้ จึงได้ฝึกอ่านเขียนอักขระขอมและวิชาแพทย์แผนโบราณจาก “ปู่แย้ม ปิ่นทอง” ผู้เป็นปู่แท้ ๆ จนมีความเชี่ยวชาญ

                จวบจนถึงวัยหนุ่มฉกรรจ์ นายพูล ผู้มีอุปนิสัยนิ่งเงียบ ไม่ค่อยพูดค่อยจาและรักสันโดษ มีความชอบวิชาการต่อสู้ของลูกผู้ชาย จึงฝึกฝนและศึกษาศิลปะแม่ไม้มวยไทย จนมีความชำนาญ กลายเป็นนักมวยฝีมือดีคนหนึ่ง

                กระทั่งเมื่อมีอายุครบเกณฑ์ทหาร เขาได้ทำหน้าที่พลเมืองดีของชาติ ด้วยการเข้าเป็นทหารม้ารักษาพระองค์ เมื่อปี พ.ศ. 2477 (กองบัญชาการเดิมอยู่ที่สะพานมัฆวาน กรุงเทพฯ ตรงกับช่วงรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 7) หลังครบกำหนด 1 ปี 6 เดือน จึงปลดประจำการ โดยได้รับยศเป็นนายสิบตรี มีเงินเดือนขณะนั้นเดือนละ 2 บาท สร้างความภาคภูมิใจให้เขาเป็นอย่างมาก

 

สู่ร่มพระศาสนา

หลังปลดจากทหารประจำการแล้ว จึงได้อุปสมบทเป็นพระภิกษุเพื่อทดแทนคุณบิดามารดา เมื่อวันอาทิตย์ ที่ 9 พฤษภาคม 2480 ตรงกับขึ้น 12 ค่ำ ปีฉลู ณ    พัทธสีมาวัดพระงาม อำเภอเมือง จังหวัดนครปฐม โดยมี พระครูอุตตการบดี (หลวงปู่สุข ปทฺวณฺโณ) เจ้าคณะอำเภอเมืองนครปฐม เจ้าอาวาสวัดห้วยจระเข้ เป็นพระอุปัชฌาย์ โดยได้รับฉายาว่า พระพูล อตฺตรกฺโข  หลังบวชแล้ว พระพูลได้พำนักอยู่ที่วัดพระงาม ศึกษาเล่าเรียนพระธรรมวินัยด้วยความพากเพียร จนสามารถสอบไล่ได้นักธรรมตรี เมื่อ พ.ศ. 2482 ในระหว่างนี้เองพระพูลได้ให้ความสนใจศึกษาด้านการเจริญสมาธิจิต ฝึกฝนวิปัสสนากรรมฐานอย่างคร่ำเคร่ง โดยฝากตัวเป็นศิษย์ของ หลวงพ่อพร้อม เกจิชื่อดังแห่งวัดพระงาม และจากพื้นฐานวิชาคาถาอาคมซึ่งได้รับการถ่ายทอดมาจากปู่แย้มตั้งแต่สมัยเยาว์วัย จึงทำให้ท่านสามารถเจริญพุทธาคมได้รุดหน้ารวดเร็ว  ขณะเดียวกันพระพูลยังได้ฝากตัวเป็นศิษย์ของ หลวงพ่อเงิน วัดดอนยายหอม สุดยอดบูรพาจารย์แห่งแผ่นดินนครปฐมในขณะนั้น ซึ่งหลวงพ่อเงินได้เมตตาพระพูลเป็นพิเศษ โดยสั่งสอนเรื่องการเจริญสมาธิภาวนา การเขียนอักขระเลขยันต์ ปลุกเสกวัตถุมงคล และวิชาอาคมต่างๆ อย่างไม่ปิดบัง ซึ่งเมื่อได้รับคำแนะนำจนเป็นที่มั่นใจแล้ว พระพูลจึงออกธุดงค์ไปตามป่าเขาลำเนาไพรฝึกฝนสมาธิจิตเพียงลำพัง

 

ด้วยเนื้อนาบุญ

และในปี พ.ศ. 2486 วัดไผ่ล้อมเกิดขาดเจ้าอาวาสปกครองวัด เนื่องจากเจ้าอาวาสแต่ละรูปไม่อยู่ในศีลในธรรมแห่งเพศบรรพชิต อยู่ปกครองวัดได้ไม่นานก็ต้องลาสิกขาไป สร้างความเอือมระอาจนชาวบ้านขาดความศรัทธาไม่ตักบาตรทำบุญ ทำให้วัดไผ่ล้อมแทบจะกลายเป็นวัดร้าง

กระทั่งผู้นำและชาวบ้านกลุ่มหนึ่ง ฉุกคิดได้ว่ายังมีพระสงฆ์รูปหนึ่ง มีวัตรปฏิบัติหมดจดงดงาม จำพรรษาอยู่ที่วัดพระงาม นามว่า พระพูล อตฺตรกฺโข จึงพากันได้ไปกราบนมัสการเชิญพระพูลให้ย้ายมาจำพรรษาประจำอยู่วัดไผ่ล้อม เพื่อกอบกู้วัดให้พลิกฟื้นขึ้นมาอีกครั้ง โดยเข้าดำรงตำแหน่งรักษาการแทนเจ้าอาวาส กระทั่งได้รับการแต่งตั้งเป็นเจ้าอาวาสเมื่อปี พ.ศ. 2492

นับเป็นบุญของชาวบ้านโดยแท้ เพราะหลังจากหลวงพ่อพูลได้เข้ามาปกครองวัดไผ่ล้อม ท่านก็สร้างความเจริญรุ่งเรือง ทำการก่อสร้างเสนาสนะ และพัฒนาวัดเรื่อยมา รวมทั้งให้ความสงเคราะห์ชาวบ้าน ไม่ว่ายากดีมีจนก็สามารถเข้าพบท่านได้ทุกคน สร้างความศรัทธาให้ญาติโยมทั้งใกล้-ไกล หากใครมีความเดือดเนื้อร้อนใจ พวกเขาจะพากันมากราบขอบารมีหลวงพ่ออยู่เนือง ๆ จนท่านกลายเป็นศูนย์รวมแห่งความรักความศรัทธา มีลูกศิษย์ลูกหาทั่วประเทศ และต่างกล่าวขวัญถึงหลวงพ่อของเขาว่า “พระอริยสงฆ์ผู้เปี่ยมด้วยเมตตา”

หลวงพ่อคือผู้ให้

                วัตรปฏิบัติอย่างหนึ่งที่ศิษยานุศิษย์ได้สัมผัสหลวงพ่อพูลมากว่าครึ่งศตวรรษ คือ ท่านเป็นพระสงฆ์ที่ไม่สะสมกิเลส ไม่สนใจชื่อเสียงเงินทองลาภยศสรรเสริญ จตุปัจจัยไทยทานที่สาธุชนได้บริจาคมา ท่านไม่เคยสะสม มีเท่าไหร่ ท่านก็นำไปบริจาคสร้างถาวรวัตถุ สร้างความเจริญไว้แก่วัดไผ่ล้อม จนเกิดความเจริญรุ่งเรืองแลดูสวยงามสบายตา เหมาะสมที่จะเป็นสถานที่ประกอบพิธีทางศาสนา นอกจากนี้ยังแผ่ขจรขจายไปถึงชุมชนรอบๆ วัด ทั้งการสร้างโรงเรียน โรงพยาบาล สถานที่ราชการ เรียกว่าใครมาขอให้ท่านช่วยพลวงพ่อไม่เคยขัด รวมทั้งกิจนิมนต์ต่างๆ ไม่ว่าใกล้-ไกลท่านก็เมตตาไปให้แม้สุขภาพร่างกายจะไม่ค่อยเอื้ออำนวยนักก็ตาม

            “คนเขามาหาให้เราช่วย ก็ต้องช่วยเขาไป มันได้บุญ” หลวงพ่อมักพร่ำสอนศิษย์อยู่เนือง ๆ แม้วัยและสังขารจะล่วงเลยไปตามกาลเวลา จวบจนอายุ 93 ปี แต่ในฐานะเจ้าอาวาส หลวงพ่อพูลได้ใช้ความรู้ความสามารถสร้างสรรค์ผลงานให้กับคณะสงฆ์เป็นอย่างดีไม่มีขาดตกบกพร่อง ท่านปกครองพระลูกวัดให้อยู่ในพระธรรมวินัยอย่างเคร่งครัด ใครมาอยู่กับหลวงพ่อห้ามขี้เกียจ ต้องหมั่นสวดมนต์เจริญสมาธิวิปัสสนา ปัดกวาดอาสนะ กุฏิ และพัทธสีมาให้สะอาดสวยงาม เหตุนี้เองจึงทำให้พุทธศาสนิกชนจากทั่วสารทิศหลั่งไหลมาที่วัดไผ่ล้อม

 

สังขารนี้ไม่เที่ยง

                การที่หลวงพ่อต้องตรากตรำทำงานหนัก ทั้งงานราษฎร์ งานหลวงไม่เคยขาดตกบกพร่อง ทำให้ไม่มีเวลาพักผ่อน จนสังขารล่วงโรยเจ็บไข้ได้ป่วยบ่อยครั้ง แต่ไม่มีใครเคยได้ยินท่านบ่นว่าเหนื่อยสักคำ นี่คงเป็นเพราะผลแห่งการฝึกฝนเจริญสมาธิวิปัสสนากรรมฐานมาตั้งแต่สมัยหนุ่มๆ

                กระทั่งวันที่ 28 ธันวาคม พ.ศ. 2547 หลวงพ่อได้ล้มป่วยลงอีกครั้ง คราวนี้คณะศิษย์ใกล้ชิดได้นำท่านเข้าตรวจเช็คร่างกาย ณ โรงพยาบาลนครปฐม คณะแพทย์ได้ลงความเห็นว่าท่านควรพักรักษาตัวที่ตึกสงฆ์

                จนถึงวันที่ 31 ธันวาคมปีเดียวกัน คณะสงฆ์และศิษยานุศิษย์ได้จัดพิธีฉลองสมณศักดิ์พัดยศถวาย ณ วัดไผ่ล้อม ในฐานะที่ท่านได้เลื่อนสมณศักดิ์เป็น พระมงคล-สิทธิการ วิ. ซึ่งขณะนั้นอาการของหลวงพ่อไม่ดีขึ้น คณะศิษย์จึงได้นำท่านกลับไปรักษาตัวต่อที่โรงพยาบาล โดยอยู่ในความดูแลของนายแพทย์วิวัฒน์ สุรางค์ศรีรัฐ และนายแพทย์มิตร รุ่งเรืองวานิช ซึ่งลงความเห็นว่าหลวงพ่อมีอาการระบบลิ้นหัวใจรั่วและน้ำท่วมปอด

                ต่อมาวันที่ 13 มกราคม พ.ศ. 2548 นายไชยา สะสมทรัพย์ ส.ส.นครปฐม และพระครูปลัดสิทธิวัฒน์ หรือหลวงพี่น้ำฝน ผู้ช่วยเจ้าอาวาสวัดไผ่ล้อม ได้ย้ายหลวงพ่อไปรักษาตัวยังโรงพยาบาลสมิติเวช กรุงเทพฯ โดยอยู่ในความดูแลของนายแพทย์รังสรรค์ รัตนปราการ แพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านโรคหัวใจ ซึ่งขณะนั้นหลวงพ่อก็ยังมีอาการระบบลิ้นหัวใจรั่วและน้ำท่วมปอด ต้องเข้ารักษาในห้องไอซียู และทำการฟอกไต เพื่อให้ระบบต่างๆ กลับมาดังเดิม

 

สัญญาคือสัญญา

                ตลอดเวลาแห่งการเจ็บไข้ได้ป่วย หลวงพ่อพูลยังมีสติสัมปชัญญะสมบูรณ์ เจริญพระพุทธมนต์กำหนดจิตเป็นสมาธิเพื่อระงับความเจ็บปวด ดังนั้นจึงไม่มีใครเคยได้ยินท่านเอ่ยปากบ่นว่าเจ็บปวดใดๆ เลย แต่เนื่องจากสภาพสังขารที่ชราภาพมากแล้ว อาการจึงไม่ดีขึ้นมีแต่ทรงกับทรุดตลอดเวลาที่พักรักษาตัวอยู่ในโรงพยาบาลสมิติเวช หลายต่อหลายครั้งที่อาการของท่านทรุดหนักลง ขนาดที่แพทย์ยังกล่าวว่าหมดปัญญารักษาแล้ว แต่เมื่อศิษย์ใกล้ชิดเข้าไปกระซิบที่ข้างหูของท่านว่า “หลวงพ่ออย่าลืมสัญญานะ” ท่านจะพยักหน้าเข้าใจ และนิ่งสงบเข้าสู่สมาธิ กำหนดจิตภาวนาจนอาการพ้นขีดอันตรายทุกครั้ง

                สัญญาใจที่หลวงพ่อพูลได้ให้ไว้แก่ศิษย์มีอยู่ 2 ข้อ คือ ข้อแรกท่านรับปากจะอยู่ร่วมพิธีอธิษฐานจิตปลุกเสกพระเครื่องรุ่นขุนแผน-กุมารทอง ที่ทางวัดจัดสร้างขึ้นเพื่อหาปัจจัยมาสร้างเมรุปลอดมลพิษ ที่ต้องใช้งบ ประมาณในการก่อสร้างกว่า 35 ล้านบาท ซึ่งเป็นสิ่งหนึ่งที่หลวงพ่อพูลต้องการมอบให้กับชาวเมืองนครปฐมที่ท่านรัก เนื่องจากท่านตระหนักและเล็งเห็นว่า เวลาวัดไผ่ล้อมมีการจัดงานเผาศพ ฝุ่นและควันได้ฟุ้งกระจายไปสร้างความเดือดร้อนรำคาญให้กับชาวบ้านใกล้เคียง ท่านจึงมีดำริให้ก่อสร้างเมรุปลอดมลพิษขึ้น แม้ต้องใช้ทุนทรัพย์มหาศาล แต่เพื่อสาธารณประโยชน์ หลวงพ่อไม่เคยเสียดาย

                สัญญาอีกข้อ คือ ท่านรับปากไว้ตั้งแต่ปีก่อนว่าจะอยู่เป็นประธานในพิธีไหว้ครูบูรพาจารย์ ที่ทางวัดไผ่ล้อมจัดขึ้นทุกวันวิสาขบูชาเป็นประจำต่อเนื่องกันมานับสิบปี ซึ่งพิธีนี้ได้รับความเลื่อมใสศรัทธาจากบรรดาศิลปินนักร้องนักแสดงชั้นนำของไทย เข้าร่วมพิธีอย่างคับคั่ง และในปี 2548 นี้ตรงกับวันอาทิตย์ที่ 22 พฤษภาคม ซึ่งศิษย์ทุกคนต่างก็หวังว่าจะได้รับความเมตตาจากหลวงพ่ออีกครั้ง แม้ในใจลึกๆ จะหวาดวิตกว่า อาจจะเป็นครั้งสุดท้ายก็ตาม

 

ปาฏิหาริย์มีจริง

                กว่า 4 เดือนที่หลวงพ่อต้องนอนอยู่บนเตียงคนป่วยโดยไม่มีวี่แววว่าอาการจะดีขึ้น คณะศิษย์ได้แต่หวังว่าสักวันหนึ่งจะเกิดปาฏิหาริย์ให้หลวงพ่อหายจากอาการเจ็บไข้ได้ป่วย แต่รอแล้วรอเล่าจนทุกคนแทบหมดกำลังใจ

                และแล้วเมื่อวันที่ 15 พฤษภาคมที่ผ่านมา ก็เกิดปาฏิหาริย์ขึ้นจริงๆ เมื่อจู่ๆ อาการของหลวงพ่อพูลกลับกระเตื้องดีขึ้นอย่างผิดหูผิดตา จนแพทย์ผู้ให้การรักษาเองยังแปลกใจและอนุญาตให้หลวงพ่อพูลออกจากโรงพยาบาลกลับสู่วัดไผ่ล้อมได้

ต่อมาวันที่ 17 พฤษภาคม หลวงพ่อก็ได้ร่วมประกอบพิธีพุทธาภิเษกพระขุนแผน-กุมารทองตามที่ได้รับปากไว้ แม้ท่านจะยังต้องนอนอยู่บนเตียงผู้ป่วย ซึ่งทางวัดได้จัดสร้างห้องผู้ป่วยไอซียูพร้อมอุปกรณ์ทางการแพทย์ทันสมัยไว้ในกุฏิของท่านเป็นการเฉพาะ โดยคณะศิษย์ได้ทำการโยงด้ายสายสิญจน์จากปะรำพิธีที่อยู่กลางแจ้งหน้าอุโบสถ ไปยังกุฏิของหลวงพ่อและให้ท่านถือไว้จนเสร็จสิ้นพิธี

                ต่อมาเมื่อวันเสาร์ที่ 21 พฤษภาคม เวลา 6 โมงเช้า ก่อนหน้าพิธีไหว้ครูบูรพาจารย์ 1 วัน ปรากฏว่าอาการหลวงพ่อได้ทรุดลงอีกครั้ง จึงต้องรีบนำท่านส่งโรงพยาบาลสมิติเวชอย่างกะทันหัน แพทย์ตรวจพบว่าท่านมีเลือดออกในกระเพาะอาหารมากและไม่สามารถทำการผ่าตัดได้ อาจละสังขารในวันเดียวกันนี้

                แต่แล้วปาฏิหาริย์ครั้งที่สองก็เกิดขึ้น โดยเมื่อช่วงเย็นวันเดียวกันปรากฏว่าอาการของหลวงพ่อก็กระเตื้องขึ้นมาอีกครั้ง แม้แต่แพทย์เองก็รู้สึกประหลาดใจว่า ทำไมคนชราอายุร่วมร้อยปีสามารถต่อสู้กับโรคร้ายและความเจ็บปวดทรมานได้ถึงเพียงนี้ ด้านคณะศิษย์ที่ทราบข่าวต่างก็ปลาบปลื้มดีใจเป็นอย่างมาก ที่ยังมีหลวงพ่ออยู่เป็นมิ่งขวัญ และมีกำลังใจที่จะจัดงานใหญ่ให้สำเร็จลุล่วงในวันรุ่งขึ้นตามที่ตั้งใจไว้

 

จิตสงบสู่สมธิ

                อากาศยามเช้าวันอาทิตย์ที่ 22 พฤษภาคม พ.ศ. 2548 สดใสไร้เมฆฝน พุทธศาสนิกชนต่างหลั่งไหลมาสู่วัดไผ่ล้อมเพื่อร่วมทำบุญตักบาตรเนื่องในวันวิสาขบูชา นอกจากนี้ยังถือโอกาสร่วมพิธีไหว้ครูบูรพาจารย์ประจำปี เพื่อเป็นสิริมงคลแก่ชีวิต

              กระทั่งตกสายแดดกล้า เหล่าศิลปินดารานักร้องนักแสดงชื่อก้องฟ้าเมืองไทยกว่า 50 ชีวิต ได้เดินทางมาร่วมพิธีอย่างพร้อมเพรียง โดยมีพระครูปลัดสิทธิวัฒน์ หรือหลวงพี่น้ำฝน ผู้ช่วยเจ้าอาวาสวัดไผ่ล้อม ศิษย์เอกของหลวงพ่อพูลเป็นผู้ประกอบพิธีให้ ซึ่งพิธีดำเนินไปอย่างราบรื่นไร้อุปสรรค แม้ฝนฟ้าก็ยังเป็นใจ ส่งเมฆครึ้มมาปกคลุมทั่วบริเวณวัดให้เกิดความร่มเย็น แต่ไร้ซึ่งเม็ดฝนสักหยด ขณะเดียวกันที่โรงพยาบาลสมิติเวช หลวงพ่อพูลได้กำหนดจิตเจริญสมาธิภาวนาสวดพระพุทธมนต์อยู่บนเตียงผู้ป่วยอย่างเงียบๆ โดยไม่แสดงอาการเจ็บปวดใดๆ ให้เห็น

 

วาระสุดท้ายแห่งชีวิต

                หลังเสร็จพิธีช่วงบ่าย คณะศิษย์ได้รับแจ้งจากทางโรงพยาบาลว่า อาการหลวงพ่อทรุดหนักมากเกินกว่าที่แพทย์จะเยียวยาได้แล้ว ทุกคนจึงรีบเดินทางไปให้เร็วที่สุดเพื่อให้ทันดูใจเป็นครั้งสุดท้าย

                และเมื่อไปถึงโรงพยาบาล ภาพที่ศิษย์ทุกคนได้เห็นคือร่างของชายชราวัยเฉียดร้อยที่นอนสงบนิ่งอยู่บนเตียง แม้ร่างกายภายนอกดูผ่ายผอม แต่ใบหน้ากลับเอิบอิ่มด้วยบุญญาบารมีฉายแววแจ่มชัด และไม่ปรากฏอาการทุรนทุรายจากความเจ็บป่วยภายในให้เห็นแม้แต่น้อย จิตใจท่านเข้มแข็งเด็ดเดี่ยว แกร่งเกินกว่าคนวัยนี้จะทำได้

หลวงพ่อได้กำหนดจิตเข้าญาณสมาธิตามลำดับชั้น ภายในห้องไอซียูเงียบสงัดไม่มีใครพูดคุยกัน เพราะทุกคนต่างตกอยู่ในภวังค์ มีเพียงเสียงดัง...ต๊อด...ต๊อด...จากเครื่องวัดสัญญาณชีพที่ยังแสดงให้รู้ว่าหลวงพ่อพูลท่านยังมีลมหายใจอยู่ แต่ก็เริ่มส่งเสียงแผ่วเบาลงเรื่อย ๆ คล้ายจะบอกว่า ร่างนี้กำลังจะแตกดับไปตามธรรมชาติในเวลาอันใกล้

                กระทั่งเวลา 14.55 น. เสียงเครื่องวัดสัญญาณชีพสงบลง ปลุกศิษย์ทุกคนให้ตื่นจากภวังค์กลับสู่โลกแห่งความเป็นจริงเพื่อรับรู้ว่า หลวงพ่อพูลท่านได้ละสังขารจากพวกเขาไปอย่างสงบแล้ว ทิ้งไว้เพียงเสียงธรรมคำสั่งสอน และคุณงามความดีที่สั่งสมมาตลอด 93 ปีแห่งอายุขัย  แม้ตระหนักดีว่า ทุกสรรพสิ่งเกิดขึ้น ดำรงอยู่ และดับไป แต่ ณ ห้วงเวลานี้ ศิษย์ทุกคนก็ยังไม่หลุดพ้นกิเลสทั้งมวล ต่างก้มลงกราบร่ำไห้แทบเท้าหลวงพ่ออันเป็นที่เคารพรักอย่างไม่อาย ไม่เว้นแม้แต่แพทย์และพยาบาลก็ร่วมประสานเสียงสะอื้นไห้ดังระงมไปทั่ว เนื่องจากอาลัยรักในตัวหลวงพ่ออย่างสุดซึ้ง เพราะตลอดเวลาที่ท่านรักษาตัวอยู่ในโรงพยาบาล ท่านได้มีเมตตากรุณาแก่ทุกๆ คน จนเป็นที่ประจักษ์แก่ใจแล้วว่านาม “พูล อตฺตรกฺโข” ศิษย์แห่งตถาคตผู้นี้ ได้เจริญรอยตามแนวทางพระธรรมคำสั่งสอนขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าได้อย่างหมดจดงดงาม

 

พลังศรัทธาหลั่งไหล

                คณะสงฆ์และศิษยานุศิษย์ได้เชิญศพหลวงพ่อพูล กลับมาตั้งบำเพ็ญกุศล ณ วัดไผ่ล้อม ในวันที่ 24 พฤษภาคม โดยพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อม พระราชทานน้ำหลวงสรงศพและหีบทองทึบตั้งหน้าศพพระมงคลสิทธิการ หรือหลวงพ่อพูล แห่งวัดไผ่ล้อม ขณะที่ศิษยานุศิษย์ทั่วประเทศทราบข่าวการมรณภาพของท่าน จากสื่อมวลชนทุกแขนงที่ได้นำเสนอข่าวกันอย่างพร้อมเพรียง มหาชนนับหมื่นต่างหลั่งไหลกันมาที่วัดไผ่ล้อมด้วยอาการเศร้าสลด มองไปมุมไหนก็มีแต่คนร้องไห้ตาแดงก่ำ บางรายถึงกับสะอึกสะอื้นปิ่มว่าจะขาดใจ...สิ่งนี้คงเป็นภาพที่สื่อให้เห็นถึง “ความรัก” ที่ทุกคนมีต่อหลวงพ่อพูล ได้อย่างแจ่มชัด.

 

สนใจเช่าบูชาูวัตถุมงคลของหลวงพ่อพูล Click ที่นี่ได้เลยครับ

 

ที่มา : www.watpailom.org